มะเร็งท่อน้ำดี โรคฮิตในคนอิสาน เป็นก้อนเนื้อร้ายที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังของท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งรวมถึงท่อน้ำดีภายในตับและท่อน้ำดีภายนอกตับ
ปัจจัยเสี่ยง : พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- รับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบๆ ทำให้ได้รับตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับ
- ภาวะท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง
- โรคของระบบทางเดินน้ำดี
- มีนิ่วในตับ
- โรคทางพันธุกรรมผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคมีถุงน้ำผิดปกติในระบบทางเดินน้ำดี
อาการของมะเร็งท่อน้ำดี : ส่วนใหญ่ระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามมากแล้วอาจมีอาการแสดงได้ เช่น
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- มีอาการไม่สบายในท้อง อึดอัด แน่นท้อง
- ปวดท้องส่วนบนบริเวณใต้ชายโครงขวา อาจมีอาการปวดหลังและไหล่ร่วมด้วย
- มีไข้ ไม่ทราบสาเหตุ
- คันบริเวณผิวหนังทั่วร่างกาย
- อุจจาระมีสีซีดและปัสสาวะมีสีเข้ม
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- คลำหน้าท้องพบตับโต
ชนิดของมะเร็งท่อน้ำดี : มะเร็งท่อน้ำดีสามารถแบ่งออกตามตำแหน่งของมะเร็งได้ 2 ชนิด คือ
- มะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ เกิดจากเซลล์ของเยื่อบุท่อน้ำดีในตับและขยายออกสู่เนื้อตับข้างๆ ทำให้มีลักษณะคล้ายมะเร็งตับ จึงเป็นโรคที่มักถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นมะเร็งตับ
- มะเร็งท่อน้ำดีภายนอกตับ จะเกิดที่ท่อน้ำดีใหญ่ตั้งแต่ขั้วตับจนถึงท่อน้ำดีร่วมส่วนปลาย มะเร็งชนิดนี้ทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำดี ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง
การวินิจฉัยโรค
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย
- การตรวจเลือดดูการทำงานของตับและสารบ่งชี้มะเร็ง
- การตรวจอัลตราซาวนด์ตับและช่องท้องส่วนบน
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
การรักษา
การรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีแพทย์จะพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะโรคและการกระจายของมะเร็ง สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เพื่อวางแผนการรักษาที่ดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
- การผ่าตัดเชื่อมท่อน้ำดีกับลำไส้เล็ก
- เจาะสายจากภายนอกระบายท่อน้ำดี เพื่อรักษาอาการคันและตัวเหลืองตาเหลือง
- เคมีบำบัด/รังสีรักษา ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเอามะเร็งออกได้หมด หรือใช้ในการรักษาหลังผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสการหายขาด
- อื่นๆ เช่น การรักษาโดยการส่องกล้อง
การติดตามผลการรักษา
ผู้ป่วยควรได้รับการติดตามผลการรักษาโดยวิธีสังเกตอาการและตรวจอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทุก 3-6 เดือนจนครบ 2 ปี
ติดต่อสอบถาม แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุรีเวช
โทร . 043-518019-26 ต่อ 8608