ตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านม

การตรวจแมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสี คล้ายกับการเอกซเรย์ แต่เครื่องตรวจแมมโมแกรม จะใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป และมีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่ามากโดยจะฉายรูปเต้านมด้านละ 2 รูป บีบเนื้อนมเข้าหากัน ถ่ายรูปจากด้านบน และด้านข้างอย่างละหนึ่งรูป กรณีที่พบจุดสงสัย อาจมีการถ่ายรูปเพิ่มหรือขยายรูป เพื่อให้เกิดความชัดเจน

สิ่งที่แมมโมแกรม สามารถตรวจพบ และดีกว่าการตรวจวิธีอื่น คือ สามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งในบางครั้ง มะเร็งเต้านม อาจมีขนาดเล็กมาก คลำก็ไม่พบ ตรวจอัลตราซาวด์ก็ไม่พบ สามารถตรวจพบได้เฉพาะในการตรวจแมมโมแกรมเท่านั้น

หากพบความผิดปกติจากการตรวจคัดกรอง แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อเต้านมหรือต่อมน้ำเหลือง โดยใช้เข็มเจาะตัดเนื้อเยื่อ (core needle biopsy) หรือใช้เข็มเจาะดูดเซลล์ (Fine needle aspiration) เพื่อนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือเซลล์ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อหาชนิดของมะเร็งเต้านม

ใครควรตรวจบ้าง ?

  • ผู้หญิงที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม  ควรตรวจตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่เคยรับการฉายแสงเพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นที่บริเวณหน้าอก
  • ผู้ที่รับยาฮอร์โมนอย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมแล้ว 1 ข้าง
  • ผู้ที่ได้รับการเจาะตรวจชิ้นเนื้อพบภาวะที่เรียกว่า Atypical ductal hyperplasia

เตรียมตัวก่อนตรวจ

  • รับประทานอาหาร ดื่มน้ำได้ตามปกติ
  • ไม่ควรทาโลชั่น แป้งฝุ่น รวมถึงสเปร์ยต่าง ๆ บริเวณเต้านมและรักแร้
  • หากเคยตรวจแมมโมแกรมหรือดิจิทัลแมมโมแกรมมาก่อนควรนำภาพและผลตรวจเดิมมาเพื่อเปรียบเทียบดูความแตกต่าง
  • หากมีอาการผิดปกติของเต้านมควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ควรตรวจช่วง 3-10 วันหลังหมดประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายเริ่มลดลง ทำให้เต้านมไม่คัดตึง ทำให้เวลาตรวจแมมโมแกรมจะเจ็บน้อยกว่า

ติดต่อสอบถาม  แผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุรีเวช
โทร . 043-518019-26 ต่อ 8623

แชร์หน้านี้ :