มะเร็งลำไส้ (Colorectal cancer)
สำหรับประเทศไทย พบมะเร็งลำไส้มากเป็นลำดับที่ 4 รองจาก มะเร็งตับ, มะเร็งปอด และ มะเร็งเต้านม ซึ่งอัตราการตายในมะเร็งลำไส้นั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อมีการตรวจคัดกรองและป้องกันตั้งแต่อาการเริ่มแรกของตัวโรคเริ่มเกิดขึ้น ดังนั้น การรู้เร็วจะมีโอกาสหายได้
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ (Risk of Colorectal cancer)
- อายุ : พบว่าอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอายุมากกว่า 50 ปี โดย ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มากกว่า ร้อยละ 90 มีอายุมากกว่า 50 ปี และยิ่งในช่วงอายุ 60-79 ปีพบว่า มีโอกาสเสี่ยงมากถึง 50 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 40 ปี แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน พบผู้ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ ในกลุ่มคนอายุ 20-49 ปี เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม : ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5-10 ของมะเร็งลำไส้เป็นผู้ป่วยที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- ประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้หรือการเกิดลำไส้อักเสบ
- อาหาร : การกินอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ สัตว์เนื้อแดง การกินปิ้งย่าง มีบางงานวิจัยพบว่าในคนที่กินผักผลไม้น้อย จะทำให้อุจจาระค้างอยู่ในลำไส้นานขึ้น มีความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้มากขึ้น
- การสูบบุหรี่
- การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อาการของมะเร็งลำไส้
- ท้องผูกสลับท้องเสีย
- อุจจาระเป็นมูกเลือด เป็นเลือดสด หรือสีดำคล้ายสีถ่าน
- ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือซีดโดยไม่รู้สาเหตุ
- อาจคลำก้อนได้ในท้อง
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัจจุบันในประเทศไทยมีวิธีที่เป็นที่นิยมและเป็นที่ยอมรับ 3 วิธี
1.การตรวจอุจจาระหาเลือดออกแฝง โดยหากผลการตรวจเป็นบวกต้องเข้ารับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ต่อไปเพื่อหาสาเหตุ หากผลเป็นลบให้ตรวจติดตามซ้ำทุก 1-2 ปี
ข้อดี : สะดวก ทำได้ง่ายและปลอดภัย และราคาค่าตรวจอุจจาระไม่แพง
ข้อด้อย : ของการคัดกรองโดยวิธีตรวจอุจจาระหาเลือดออกแฝงคือเป็นการตรวจที่มีความไวต่ำ โดยมีความไวในการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ร้อยละ 80 และความไวในการตรวจพบติ่งเนื้อที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเพียงร้อยละ 40-50 เทียบกับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะรอยโรคของลำไส้ใหญ่ด้านขวาจะพลาดการวินิจฉัยได้มาก ดังนั้นแม้ผลการตรวจเป็นลบจึงไม่สามารถจะยืนยันได้ว่าไม่มีรอยโรค จึงแนะนำให้ทำการตรวจซ้ำทุก 1-2 ปีหากผลเป็นลบ และไม่แนะนำให้ใช้การตรวจอุจจาระหาเลือดออกแฝงเป็นเครื่องมือในการคัดกรองในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
ข้อดี : เป็นการตรวจที่มีความไวในการตรวจพบติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่มากที่สุด สามารถตรวจพบติ่งเนื้อทุกรูปแบบทั้งที่เป็นก้อนนูนและแบนราบ จึงเป็นการตรวจคัดกรองที่แนะนำให้ใช้ได้ทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงทั่วไปและผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
ข้อด้อย : มีความเสี่ยงจากหัตถการ ทั้งจากการได้รับยากล่อมประสาท ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด และความเสี่ยงจากการทำหัตถการเอง
3.การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่
ข้อดี : มีความไวสูงพอสมควร โดยพบความไวในการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ร้อยละ 90 และความไวในการตรวจพบติ่งเนื้อขนาดใหญ่กว่า 1 ซม.ร้อยละ 80 เทียบกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ สามารถตรวจพบพยาธิสภาพที่อยู่นอกลำไส้ใหญ่ได้ด้วย และมีความเสี่ยงจากการทำต่ำกว่าการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยมีโอกาสเกิดลำไส้ทะลุจากการเป่าลมเพื่อขยายลำไส้น้อยมากมีรายงานร้อยละ 0.05 และไม่มีความเสี่ยงจากการได้รับยากล่อมประสาท
ข้อด้อย : มีความไวต่ำในการตรวจพบรอยโรคชนิดแบนราบหรือบุ๋ม ต้องสัมผัสกับรังสี และหากตรวจพบติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่จะต้องทำการนัดมาตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อตัดติ่งเนื้ออีกรอบ ทำให้ต้องเตรียมลำไส้สองหนและเสียค่าใช้จ่ายทั้งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และส่องกล้องลำไส้ใหญ่ซึ่งมีราคาสูงทั้งสองการตรวจ