อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ระยะฟักตัว 1 – 4 วัน โดยเฉลี่ย 2 วัน
- ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะปวดตามแขน ขา ปวดข้อ ปวดรอบตา ปวดเมื่อยตามตัว
- ไข้สูง 39-40 องศา
- เจ็บคอ และคอแดง มีน้ำมูกใสๆ ไหล
- ไอแห้งๆ ตามตัวจะร้อนแดง ตาแดง
- อาเจียน หรือท้องเดิน เป็นไข้ 2-4 วัน แล้วค่อยๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูกและแสบคอยังคงอยู่ โดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์
สำหรับรายที่อาการรุนแรง มักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน ซึ่งจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นๆ ด้วย เช่น
- พบอาการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ หรือมีอาการหัวใจวาย
- ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะมาก และซึมลง
- ระบบหายใจ:มีหลอดลมอักเสบและปอดบวม ผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย
โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะหายในไม่กี่วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางราย มีอาการไอ และปวดตามตัวนานถึง 2 สัปดาห์ ในรายที่เสียชีวิตมักมีอาการปอดบวม และโรคหัวใจ
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ใครบ้างที่ควรฉีด ?
บุคคลทั่วไป สามารถฉีดได้ทุกช่วงอายุ
กลุ่มเสี่ยงที่ควรต้องฉีด
- เด็กเล็กอายุ 6-23 เดือน
- เด็ก หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด หัวใจ ตับ เบาหวาน ปอดเรื้อรัง โรคไต โรคเลือด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือต้องรักษาด้วยยาแอสไพริน เป็นประจำนานๆ
- หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป หรือหลังคลอดไม่เกิน 4 สัปดาห์
- นักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางไปต่างถิ่นที่อาจมีการระบาด
- ผู้ที่ต้องไปในสถานที่แออัด
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กก./ตรม.
ใครไม่ควรฉีดวัคซีนหรือควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน
- ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
- หากมีไข้ เจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือโรคประจำตัวมีอาการกำเริบควบคุมไม่ได้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับการฉีดวัคซีนได้
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีน
- อาการเฉพาะที่บริเวณที่ฉีด เช่น ปวด บวม แดง เกิดภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังฉีด แต่อาการจะหายไปเองภายใน 2-7 วัน
- หลังฉีดบางรายจะมีไข้ต่ำๆ รู้สึกไม่สบายตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อาจเริ่มมีอาการภายใน 6-12 ชั่วโมง และอาจเป็นนาน 1-2 วัน โดยไม่ต้องรับการรักษา
ทั้งนี้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งสายพันธุ์ A และ B จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจึงเป็นเหตุให้มีการแพร่ระบาดทุกปี การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ลดความรุนแรงในการเกิดโรค ลดโอกาสการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล