วัคซีนที่จำเป็น สำหรับผู้สูงอายุและผู้ใหญ่
เคยคิดไหมคะ “การฉีดวัคซีนสามารถฉีดได้ในวัยเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุอย่างเราๆจะฉีดไปทำไม?”
ในความเป็นจริง เมื่อคนเราสูงวัยขึ้น ย่อมมีโอกาสที่จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ เพราะภูมิคุ้มกันโรคจากวัคซีนในวัยเด็กของเราก็เสื่อมไปตามอายุที่มากขึ้น ภูมิคุ้มกันที่มีก็คงลดลงตามวัย และสภาพของร่างกายที่อ่อนแอ “วัคซีน” จะเป็นทางเลือกสำคัญ ทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้กับคุณ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุแล้วก็ตาม ก็ยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีนนะคะ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยและติดเชื้อได้ง่าย เป็นการช่วยลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก แบบนี้ลดการไหลออกของเงินในกระเป๋าได้เยอะเลยค่ะ
วัคซีนที่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุอย่างเราๆควรฉีดมีอะไรบ้าง ?
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine)
แนะนำให้ฉีดทุกปี เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี โดยฉีดปีละ 1 ครั้ง ช่วงก่อนมีการระบาด ในประเทศไทยมักระบาด 2 ช่วงคือช่วงฤดูฝน และช่วงฤดูหนาว ห้ามฉีดในผู้ที่แพ้ไข่อย่างรุนแรง เนื่องจากไข่เป็นส่วนหนึ่งในขบวนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ - วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบหรือวัคซีนนิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccine : PCV13)
เพื่อป้องกันการติดเชื้อเชื้อนิวโมคอคคัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป) ผู้ที่ไม่มีม้าม หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยฉีดเพียงครั้งเดียว - วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Diphtheria-Tetanus-Pertussis vaccine : DTP)
แนะนำให้ฉีด 1 ครั้ง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีบาดแผลหรือทำงานเสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยัก (ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน) - วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella vaccine)
ควรฉีดในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน - วัคซีนงูสวัด
แนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปเนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดสูงสุด แนะนำฉีดเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องมีการฉีดกระตุ้นซ้ำ - วัคซีนป้องกันเอชพีวี (ผู้หญิง)
เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้แก่เด็กวัยรุ่นหญิง ผู้หญิงอายุ 9-26 ปี ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีในหญิงตั้งครรภ์ - วัคซีนป้องกันเอชพีวี (ผู้ชาย)
แนะนำให้ฉีดโดยเฉพาะกลุ่มชายรักร่วมเพศเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีบริเวณทวารหนักและการเป็นมะเร็งของทวารหนัก (anal cancer) - วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (Measles-Mumps-Rubella vaccine : MMR)
ในผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยป่วยเป็นโรคทั้ง 3 นี้มาก่อน รวมทั้งผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 ครั้ง ควรได้รับวัคซีนรวมอย่างน้อย 1 ครั้ง หญิงวัยเจริญเจริญพันธุ์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันมาก่อน ควรได้รับวัคซีนหัดเยอรมันหรือวัคซีนรวมหัด หัดเยอรมัน คางทูมอย่างน้อย 1 ครั้ง หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 3 เดือนหลังฉีดวัคซีน - วัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A vaccine)
โรคนี้ติดต่อทางอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง ผู้ที่มีอาชีพประกอบอาหาร หรือผู้อาศัยอยู่ในที่ที่มีผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างแออัด - วัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B vaccine)
แนะนำให้ฉีดเนื่องจากคนที่ติดเชื้อส่วนหนึ่งเมื่อหายจากตับอักเสบอาจกลายเป็นพาหะของโรค โดยสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ทางสารคัดหลั่ง เช่น ทางเพศสัมพันธ์ จากแม่สู่ลูกขณะคลอด ทางการให้เลือด หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน อีกทั้งผู้ที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานานอาจเป็นตับอักเสบเรื้อรัง และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับในอนาคต
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ แผนกเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุรีเวช
โทร 043-518019-26 ต่อ 8636